The Road to Big Data
เรื่องของ Big Data เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจมาสักระยะหนึ่งแล้ว หลายๆองค์กรได้ให้ความสนใจที่จะนำเทคโนโลยี Big Data มาใช้ ผู้เขียนจึงอยากสรุปมุมมองของผู้เขียนเกี่ยวกับหัวข้อนี้ และแนะนำแนวทางในการนำ Big Data มาใช้ในองค์กร
big data คือข้อมูลขนาดใหญ่
ข้อมูลขนาดใหญ่ ที่ใหญ่เกินกว่าที่อุปกรณ์ หรือระบบประมวลผลข้อมูลทั่วไปจะสามารถรับมือกับข้อมูลดังกล่าวได้
big data ไม่ใช่ของใหม่ (ใช้กันมานานแล้ว)
องค์กรระดับประเทศหรือระดับโลก โดยเฉพาะด้าน การเงิน, ข่าวกรอง, การวิจัย, และพยากรณ์อากาศ มีระบบประมวลผลข้อมูลสำหรับ big data ของพวกเขามานานแล้ว ทั้ง software และ hardware ของระบบประมวลผลที่องค์กรเหล่านี้ใช้งาน ถูกออกแบบ และปรับแต่ง เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ในการประมวลผลข้อมูลเฉพาะสำหรับองค์กรเหล่านั้น
แต่ลองย้อนกลับไปดูประเภทขององค์กรอีกที จะเห็นว่าเป็นองค์กรที่มีงบมหาศาล และมีความจำเป็นที่จะต้องจัดการกับ big data ของพวกเขาให้ได้มากที่สุดเท่าที่งบจะอำนวย
Necessity is the mother of invention
หากผู้อ่านได้ลองอ่านหรือศึกษาประวัติของ software ที่เกี่ยวกับ Big Data ที่เป็นที่รู้จักกันในตอนนี้ จะพบว่าบริษัท หรือคนในสายงาน IT ได้พัฒนา software และ framework ขึ้นมาใหม่ เพื่อแก้ปัญหาของพวกเขา
ปัญหาของพวกเขาก็คือ ความต้องการที่จะประมวลผลข้อมูลจำนวนมากของพวกเขา ให้ได้มากที่สุด ในราคาที่ถูกที่สุด เพราะพวกเขาไม่ได้มีงบประมาณมากแบบองค์กรที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้
Now everyone can Big Data! *
ต้องขอบคุณความใจกว้างขององค์กร และบุคคลที่พัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับ Big Data ที่เลือกที่จะเผยแพร่เทคโนโลยีของตนเองอย่างเสรี (free software)
Software และ framework เกี่ยวกับ Big Data ส่วนมากไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทำงานเฉพาะอย่าง แต่มักจะถูกออกแบบมาให้เอาไว้สำหรับประมวลผลข้อมูลทั่วไป (general purpose) และใช้งานบน hardware ธรรมดาๆที่หาซื้อได้ทั่วไป
ความใจกว้างของพวกเขา ความสามารถในการประมวลผลข้อมูลที่หลากหลาย และชนิดของ hardware ที่สามารถใช้งาน software พวกนี้ได้ เป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่ทำให้เกิดการนำ Big Data มาใช้ในหลายๆธุรกิจอย่างรวดเร็ว
จากก่อนหน้านี้ ที่จะต้องมีวิศวกรออกแบบ framework, ออกแบบ software, ออกแบบ hardware เฉพาะทางขึ้นมาเพื่อประมวลผลข้อมูลของตัวเอง ตอนนี้ใครๆก็สามารถใช้ hardware ธรรมดาๆ, Big Data software, และความสามารถของตัวเอง มาประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ของตัวเองได้
*ล้อเลียนคำขวัญ Now everyone can fly ของสายการบินแห่งหนึ่ง
How to Big Data?
สิ่งแรกที่ควรทำสำหรับองค์กรที่อยากจะใช้ Big Data คือการลืม Big Data ไปก่อน
แล้วมาคิดประโยค ”… ถ้าหากว่า …” แทน
- องค์กรจะมีกำไรมากขึ้น ถ้าหากว่าผู้จัดการสามารถดูยอดขายของทุกสาขาได้อย่างรวดเร็ว
- เราจะสามารถลดจำนวนพนักงานได้ ถ้าหากว่าระบบสืบค้นข้อมูลของเราทำงานได้เร็วขึ้น
- ถ้าหากว่าเราสามารถจับปัญหาในระบบได้อย่างรวดเร็ว ลูกค้าก็จะมีความพึงพอใจกับบริการของเรามากขึ้น
- ฯลฯ
ประโยค “ถ้าหากว่า” เหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นแนวทางในการเลือกใช้เทคโนโลยีต่างๆเพื่อมาใช้ในการตอบสนองความต้องการขององค์กร เพราะที่สุดแล้วเทคโนโลยีเกี่ยวกับ Big Data เป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้น
หากเจ้าของครัวยังไม่รู้ว่าจะเป็นครัวทำอาหารแบบใดเป็นหลัก และรีบซื้อเครื่องครัวมาก่อน ก็อาจจะได้เครื่องครัวที่ไม่เหมาะสมกับประเภทของอาหารที่จะทำ หรือไม่ก็อาจจะมีเครื่องครัวที่ซื้อมา “เผื่อไว้” แต่ไม่ได้ถูกนำมาใช้งานเป็นจำนวนมาก
The road of Big Data is not always smooth
การนำ Big Data มาใช้ในองค์กรนั้นไม่ใช่เพียงการเลือกเครื่องมือที่เหมาะสมมาใช้งานเท่านั้น แต่แนวความคิดของการจัดการ และประมวลผลข้อมูล จะเปลี่ยนไปจากสิ่งที่หลายๆองค์กรคุ้นเคยด้วย
การเตรียมความพร้อมของบุคคลากรเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด องค์กรควรสนับสนุนให้บุคคลากรในองค์กรตั้งแต่ฝ่ายบริหาร ถึงฝ่าย operation ควรมีความเข้าใจเกี่ยวกับเครื่องมืออันทรงพลังชิ้นใหม่นี้
เครื่องมือใหม่นี้เหมือนกับตัวต่อเลโก้ (building block) ความเข้าใจว่าตัวต่อแต่ละชิ้นทำงานอย่างไร ต่อกันอย่างไร มีข้อจำกัดอย่างไร จะช่วยให้เราสร้างสิ่งที่เราต้องการได้เร็วยิ่งขึ้น
และเนื่องจากตัวต่อพวกนี้เป็นตัวต่อสำเร็จรูป สิ่งที่เราต้องการทั้งหมดอาจจะไม่ได้อยู่ในตัวต่อที่เราสามารถเลือกใช้ได้ การสร้างตัวต่อต่อพิเศษบางตัวขึ้นมาเพื่อต่อเครื่องมือ Big Data เข้ากับเครื่องมืออื่นๆขององค์กรเป็นสิ่งที่มักจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้น องค์กรอาจจะเลือกพัฒนาบุคคลากรที่มีความสามารถในด้านนี้เพิ่มขึ้น หรือเลือกบริษัทที่ปรึกษาที่เหมาะสมมาสนับสนุ นการใช้งาน Big Data ขององค์กร
ต้องปรับเปลี่ยนขนาดนี้แล้วจะคุ้มเหนื่อยคุ้มเงินหรือเปล่า?
Big Data มันถูกกว่าเยอะเลย
– ผู้บริหาร IT ของบริษัท SET100 แห่งหนึ่ง
นี่คือสิ่งที่ท่านได้พูดหลังจากได้ศึกษาเปรียบเทียบเทคโนโลยี Big Data ตัวหนึ่ง กับ software ระดับ enterprise ของบริษัทแห่งหนึ่ง
แม้ว่าเทคโนโลยี Big Data จะไม่ตอบโจทย์ทั้งหมดขององค์กรดังกล่าวได้ดีเหมือนกับ software ราคาแพง แต่การจ้างวิศวกรจากข้างนอกมาปรับระบบให้เชื่อมต่อกันได้นั้นก็ยังถือว่าถูกกว่า
การปรับตัวขององค์กรให้เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ๆเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะสิ่งใหม่ๆเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้องค์กรจัดการกับข้อมูลได้เยอะกว่าในราคาที่ถูกกว่า
แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกองค์กรที่จะตอบแบบนี้หลังจากที่ประเมินเทคโนโลยี Big Data แต่ผู้เขียนเชื่อว่า หลายๆองค์กรที่ต้องการเก็บ และประมวลผลข้อมูลเป็นจำนวนมาก จะเห็นตรงกันว่า Big Data ถูกกว่า
ปัจจุบันบริษัทหลายๆบริษัทใน SET100 ได้ย้ายข้อมูลบางส่วนมาอยู่ใน Big Data platform แล้ว และมีนโยบายที่จะย้ายข้อมูลอื่นๆที่เหมาะสมมาอยู่ใน Big Data platform เพิ่มเติมอีก ด้วยเหตุผลหลักเพราะว่า Big Data สามารถ จัดการกับข้อมูลที่มากกว่า ได้ในราคาที่ถูกกว่า
แม้ว่า Big Data จะเปิดโอกาสให้เราทำอะไรใหม่ หรือช่วยให้ประหยัดเงินได้ แต่ Big Data ก็ยังไม่สามารถมาแทนระบบจัดการข้อมูลต่างๆที่มีอยู่ได้ทั้งหมด Big Data มีความเก่ง และความไม่เก่งในแต่ละด้านของตัวมันเอง
หากคุณสนใจที่จะเริ่มนำ Big Data มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในองค์กรแล้วละก็ ขอให้เริ่มต้นจากเป้าหมายขององค์กร แล้วคุณจะมองเห็นภาพว่าองค์กรจะนำมา Big Data มาใช้ให้เกิดผลได้อย่างไร
ยินดีต้อนรับสู่โลกของ Big Data ครับ
“If you want to succeed with Big Data, start small.”
– Doug Cutting
- บทความนี้ได้ถูกนำไปลงที่ TechTalkThai.com เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2559