เดตาซายแอนซ์·คาเฟ่

... และนี่คือสิ่งที่ผมเชื่อว่าทำให้ Netflix ประสบความสำเร็จ


TED Netflix Amazon Google Brain

ข้อมูล เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์เป็นอย่างมากในการช่วยให้เราตัดสินใจได้ดีขึ้น แต่ผมเชื่อว่าการนำข้อมูลมาเป็นคำตอบ จะทำให้เกิดความผิดพลาด

ไม่ว่าข้อมูลจะมีเป็นเครื่องมือที่มีพลังเพียงใด มันก็เป็นเพียงแค่เครื่องมือเท่านั้น และผมพบว่าเครื่องมือชิ้นนี้(สมอง) เป็นเครื่องที่มีประโยชน์มากทีเดียว

– เซบาสเตียน เวอร์นิค

เซบาสเตียน เวอร์นิค นำเรื่องของ Amazon, Netflix, และ Google มาเล่าให้ฟังใน TEDxCambridge ว่า การนำข้อมูลมาตัดสินใจนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดเสมอไป

Amazon Studio และ Netflix มีการผลิตรายการโทรทัศน์ของตัวเอง โดยที่ทั้ง Amazon และ Netflix มีความตั้งใจเหมือนกัน คือต้องการผลิตรายการที่ประสบความสำเร็จสูงสุด แต่ทั้งสองบริษัทนี้ใช้วิธีการเลือกผลิตรายการไม่เหมือนกัน และได้ผลลัพธ์ที่ไม่เหมือนกัน


Amazon Studio เปิดให้มีการแข่งขันกันระหว่างรายการโทรทัศน์ต่างๆที่มีคนเสนอมา และนำตอนแรกของ 8 รายการสุดท้ายที่เข้ารอบ มาเปิดให้ชมฟรีบน Amazon โดยระหว่างที่คนชมนั้น ได้มีการจับพฤติกรรมของผู้ชมอย่างละเอียด ไม่ว่าจะมีการกดหยุด, กดข้าม, หรือกดเพื่อดูซ้ำ เพื่อนำมาวิเคราะห์หารายการที่จะเป็นผู้ชนะและนำมาผลิตจริง

หลังจากที่ Amazon ได้นำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์แล้ว คำตอบที่ได้ก็คือ “Amazon ควรทำรายการเกี่ยวกับ สมาชิกวุฒิสภาของพรรครีพับลิกัน 4 คน

รายการ Alpha House ที่เป็นรายการที่ Amazon เลือกเป็นผู้ชนะ ได้คะแนนความนิยม 7.5 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยนิดเดียว (รายการส่วนมากอยู่ที่ 7.4) แม้ว่าจะเป็นรายการที่ใช้ได้ แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นรายการที่ประสบความสำเร็จอย่างที่ Amazon ได้ตั้งใจไว้


และในช่วงเวลาใกล้ๆกัน Netflix ก็ได้ใช้ข้อมูลมาช่วยเลือกผลิตรายการเหมือนกัน แต่ใช้วิธีต่างจาก Amazon

Netflix วิเคราะห์ข้อมูลการรับชมรายการที่ทาง Netflix มีอยุ่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นคะแนนความนิยม, ประวัติการรับชมรายการ, ลักษณะของรายการที่คนชอบชม, ฯลฯ การวิเคราะห์ข้อมูลทำให้ Netflix ค้นพบ ข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับผู้ชม ไม่ว่าจะเป็น ประเภทของรายการ, ผู้จัด, นักแสดงที่ ผู้ชมชื่นชอบ

เมื่อ Netflix ได้ข้อมูลทั้งหมดออกมาแล้ว Netflix ก็ได้ตัดสินใจที่จะเลือกซื้อรายการ House of Cards ซึ่งเป็นรายการที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง (ได้คะแนนความนิยม 9.1)


Google Flu Trends(GFT) เป็นระบบวิเคราะห์ข้อมูลจากการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับไข้หวัด ที่สามารถทำนายการระบาดของไข้หวัดได้ GFT สามารถทำนายการระบาดได้เป็นอย่างดี จนเป็นข่าวดัง และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการที่ชื่อว่า Nature ในที่สุด

GFT สามารถทำนายการระบาดได้อย่างดีทุกปี จนกระทั่งปีหนึ่ง GFT ก็ไม่สามารถทำการทำนายได้อย่างถูกต้อง ไม่มีใครบอกได้ว่าเป็นเพราะอะไร และเป็นข่าวหน้าหนึ่งอีกครั้ง


เวอร์นิคได้ชี้ให้เห็นว่า แม้กระทั่งบริษัททีมีความสามารถอย่าง Google และ Amazon ก็ยังวิเคราะห์ข้อมูลผิดพลาดได้ และแม้ว่าเราจะรู้ว่าจะมีโอกาสผิดพลาด เราก็ยังนำข้อมูลมาใช้กับการตัดสินใจหลายๆอย่างในชีวิตจริง ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้กฏหมาย, การแพทย์, ฯลฯ

เขาจึงย้ำว่า เราควรจะแน่ใจว่าการใช้ข้อมูล ทำให้เกิดประโยชน์มากกว่าสร้างปัญหา

จากประสบการณ์ เวอร์นิคได้ค้นพบสิ่งที่เขาคิดว่าทำให้การตัดสินใจจากข้อมูลนั้นประสบความสำเร็จ

เมื่อไหร่ก็ตามที่เรากำลังแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อน กระบวนการจะมีอยู่สองส่วนคือ

  1. การนำปัญหามาแบ่งเป็นส่วนย่อยๆ เพื่อทำการวิเคราะห์อย่างละเอียด
  2. การนำผลการวิเคราะห์จากข้อแรกนั้น มารวมกันเป็นข้อสรุปเพื่อเป็นคำตอบของปัญหา

สิ่งที่สำคัญก็คือ ข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูลนั้น ช่วยเราแบ่งปัญหาเป็นส่วนย่อยๆและช่วยให้เราเข้าใจส่วนย่อยๆพวกนั้น แต่มันไม่เหมาะกับการนำความเข้าใจย่อยๆเหล่านั้น มาหาข้อสรุปของปัญหานั้นๆ

เครื่องมือที่เหมาะสำหรับการหาข้อสรุปนั้นคือสมองของเรานั่นเอง สมองของเรามีความสามารถในการที่จะรวบรวมข้อมูลต่างๆ มาเป็นข้อสรุปได้

…และนี่คือสิ่งที่เวอร์นิคเชื่อว่าทำให้ Netflix ประสบความสำเร็จ

Netflix เลือกใช้ข้อมูลและสมองได้ถูกที่ Netflix ใช้ข้อมูลเพื่อที่จะเข้าใจจุดเล็กๆน้อยๆต่างๆเกี่ยวกับผู้ชม แต่ข้อมูลเหล่านั้นก็ไม่ได้บอกว่าจะต้องผลิตรายการแบบ House of Cards หากแต่เป็นทีมงานของ Netflix ที่ตัดสินใจเลือก House of Cards เป็นข้อสรุปจากผลการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมด

ในขณะที่ Amazon ใช้ข้อมูลตลอดกระบวนการเลือกรายการ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกรายการมาแข่งขันกัน และการเลือกผู้ชนะที่จะมาเป็นรายการของ Amazon – แม้ว่าจะเป็นกระบวนการที่ปลอดภัยสำหรับทีมงาน เพราะพวกเขาสามารถอ้างได้ว่า “นี่คือสิ่งที่ข้อมูลบอกเรา” แต่มันก็ไม่ได้ทำให้ได้ผลที่ยอดเยี่ยมอย่างที่พวกเขาหวังไว้

ข้อมูลเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์เป็นอย่างมากในการช่วยให้เราตัดสินใจได้ดีขึ้น แต่ผมเชื่อว่าการนำข้อมูลมาเป็นคำตอบ จะทำให้เกิดความผิดพลาด ไม่ว่าข้อมูลจะมีเป็นเครื่องมือที่มีพลังเพียงใด มันก็เป็นเพียงแค่เครื่องมือเท่านั้น และผมพบว่าเครื่องมือชิ้นนี้(สมอง) เป็นเครื่องที่มีประโยชน์มากทีเดียว

การที่คุณตัดสินใจ และการที่คุณมีความเชี่ยวชาญในงานของคุณ จะทำให้คุณประสบความสำเร็จ เพราะในที่สุดแล้วมันไม่ใช่ข้อมูล แต่เป็นการกล้าเสี่ยงตัดสินใจ ที่จะทำให้คุณได้คะแนน 9.1 แบบ Netflix